08 ธันวาคม 2552

การส่งเสริมการอ่านต้องเริ่มที่ปฐมวัย

แม้ การอ่านหนังสือของคนไทยตื่นตัวมากขึ้นกว่าสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบ กับประเทศอื่นๆ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเก็บข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2551 จาก 53,000 ครัวเรือน พบว่า กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด รองลงมาคือเยาวชน กลุ่มวัยทำงานและต่ำสุดคือวัยสูงอายุ โดยกลุ่มเด็กใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนเฉลี่ย 39 นาทีต่อวัน กลุ่มเยาวชน 46 นาทีต่อวัน และวัยอื่นๆ ใช้เวลาอ่านหนังสือ 37.9 นาทีต่อวัน การ อ่านหนังสือของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งรวมถึงการอ่านเองและผู้ปกครองอ่านให้ฟัง มีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 36 หรือประมาณ 2.1 ล้านคน อ่านสัปดาห์ละ 2-3 วันมากที่สุด ร้อยละ 31.3 โดยอัตราการอ่านหนังสือมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค คือเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเทศบาล กรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านสูงที่สุด ต่ำที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อ เปรียบเทียบอัตราการอ่านหนังสือในแต่ละปีพบว่าปี 2546 มีอัตรา 61.2 ปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 69.1 และปี 2551 ลดลงเล็กน้อยคือร้อยละ 66.3 โดยผู้ชายมีอัตราการอ่านสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย จากข้อมูลเบื้องต้น สรุปได้ว่า คนไทยอ่านหนังสือประมาณร้อยละ 60 คนอายุน้อยจะอ่านหนังสือมากที่สุด และลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเวลาเฉลี่ยในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 40 นาทีต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก โดย เฉพาะในเด็กเล็กซึ่งน่าจะมีอัตราการอ่านหนังสือในระดับเกินร้อยละ 80 ด้วยซ้ำเพราะวัยนี้เป็นวัยแห่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา การอ่านหนังสือจะเป็นหนทางในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เป็นการเรียนรู้ทางลัดที่ใช้เวลาน้อยที่สุด และสามาถนำความรู้ใหม่ที่ได้มาประยุกต์ใช้สร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อไปในอนาคต ถ้าเด็กไทยไม่มีนิสัยรักการอ่านก็คงยากในการก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ หรือการเรียนรู้แบบยั่งยืนตลอดชีวิต (Long Live Learning) ดัง นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลในการปลูกฝังนิสัยแก่เด็กปฐมวัย คือผู้ปกครองและครูปฐมวัยต้องเอาใจใส่ และให้เวลาในการส่งเสริมการรักการอ่านแก่เด็กปฐมวัยด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง ผู้ปกครองต้องมีเวลาในการสอนการบ้านลูก เพื่อจะได้รู้ว่าลูกมีความสามารถทางด้านภาษา อ่านหนังสือออก เขียนได้ในระดับใด จะได้สอนได้ตรงจุด และต้องกำหนดเวลาในการดูโทรทัศน์ที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไปโดยเฉพาะในเด็กเล็กเพราะในโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีภาพเคลื่อนไหว เร็วมาก มีผลทำให้เด็กสมาธิสั้น ไม่สามารถตั้งใจทำอะไรนานๆ ได้ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ พ่อแม่ยุคนี้นิยมให้เด็กดูการ์ตูน หรือซื้อนิทานแบบแผ่นวีซีดีให้ลูกดู เพราะเข้าใจว่านิทานดีคือสิ่งที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัย ที่จริงแล้วการเล่านิทานโดยผู้ใหญ่ต่างหากถึงจะเกิดประโยชน์ เพราะการเล่านิทานจะเป็นการสร้างจินตนาการ กระตุ้นให้เด็กอยากรู้ และอยากอ่านหนังสือเองในอนาคต การเล่านิทานมีหลายแบบ ตั้งแต่การเล่าปากเปล่า การเล่าประกอบสื่อ รวมถึงการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยก็สำคัญเช่นกัน เพราะพ่อแม่จะได้กำหนดประเด็นที่จะสอนลูกได้ถูกทาง นิทานที่ดีอาจมีการใช้คำซ้ำ คำคล้องจอง เพื่อให้เด็กซึมซับภาษาไทยที่สละสลวย นอกจากนั้นพ่อแม่ต้องมีนิสัย ที่รักการอ่านเพื่อลูกจะได้เอาเป็นแบบอย่าง และต้องมีตู้หนังสือ หรือชั้นวางหนังสือในบ้านเพื่อให้ลูกนำมาอ่านได้สะดวก ต้องพาลูกไปร้านหนังสือ หรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างนิสัยอยากรู้อยากเห็น และกระตุ้นให้เด็กหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่อยากรู้ด้วยการอ่านหนังสือ สำหรับ ครูปฐมวัย ต้องใช้เวลาสำหรับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแก่เด็กเล็กเป็นพิเศษ ต้องเตรียมตัวในการเล่านิทานประกอบสื่อเป็นอย่างดีและต้องพัฒนา ปรับปรุงสื่อต่างๆ ให้ทันสมัยและใหม่ มีความรู้ใหม่ๆ มาใช้ประกอบการเล่านิทานอย่างสม่ำเสมอ น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่กรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดทั่ว ประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กไทย ให้มีนิสัยรักการอ่าน จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านด้วยสื่อนวัตกรรมการสอนภาษาไทย เด็กปฐมวัยชุด "ฉลาดรู้ภาษาไทยขึ้น" เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กเล็กดีเด่น และผู้นำเครือข่าย มีความเข้าใจในวิธีการสอนแนวใหม่นำไปพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กปฐมวัย อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาสื่อชุดนี้เป็นนวัตกรรมที่บูรณาการภาษา ตามธรรมชาติของเด็กปฐมวัยอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับการทำงานของสมอง (Brain Based Learning) ช่วยปูพื้นฐานเบื้องต้นให้เรียนภาษาไทยอย่างสนุกสนานอย่างมีสาระที่เอื้อต่อ การพัฒนาภาษาของเด็ก จากภาษาภาพสู่ภาษาเขียนผ่านนิทานคู่ขนานไปกับการพัฒนาภาษาของเด็กอย่างเป็น องค์รวม และที่สำคัญการมีกระบวนการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ครูและเด็กที่ช่วยกันเสริมสร้างความรู้ และทบทวนเปรียบเทียบ เชื่อมโยง ประยุกต์ใช้ความรู้ ความเข้าใจในหลักไวยากรณ์ทางภาษา โดยเน้นการเรียนรู้แบบการประมวลความเข้าใจในภาษา (Reading Comprehension) ที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำ ถ้าร่วมมือร่วมใจ ส่งเสริมเด็กไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน ในอนาคตอันใกล้ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยก็คงจะสูงกว่านี้ และการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คงไม่ไกลเกินฝัน
โดย นุชฤดี รุ่ยใหม่ นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น