การ ปฏิรูปการศึกษาควรเริ่มจากฐานรากด้วย กล่าวคือ การปฏิรูปการศึกษาอาจจะเริ่มด้วยการปรับโครงสร้างในระดับมหภาคอย่างที่ทำ อยู่ แต่ควรมีปฏิบัติการที่เริ่มจากฐานรากด้วย ฐานรากคือครูประมาณหกแสนคนทั่วประเทศ เป็น ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะปฏิรูปการศึกษาให้เริ่มที่การปฏิรูปครู เพราะ "ครูคือผู้สร้างชาติ" ไม่เป็นที่สงสัยว่าถ้าประเทศได้ครูดีก็จะได้พลเมืองที่ดีและนักการเมืองที่ ดีด้วย ไม่เป็นที่สงสัยอีกเช่นกันว่า "ครูเป็นเรือจ้าง" นั่นคือ พานักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าข้ามฝั่งโดยที่ตนเองจะไม่ได้อะไรนอกจากความ ภูมิใจ นักเรียนมากมายจำครูอนุบาลของตนเองไม่ได้ด้วยซ้ำ ครูอนุบาลคือสุดยอดผู้สร้างชาติ รัฐไม่ควรปล่อยให้เรือจ้างทำงานตาม ยถากรรม แท้จริงแล้วครูที่ดีควรได้รับสิ่งตอบแทนมากกว่าความภูมิใจ นั่นคือ ได้พัฒนาจิตและได้ค่าตอบแทนสูง ให้ได้รับสูงกว่านายแพทย์หรือผู้พิพากษา เพราะครูคือผู้สร้างชาตินั่นเอง ครูที่ดีจะมีการพัฒนาจิตโดยธรรมชาติ กล่าวคือ จะเป็นครูที่ดีได้ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่ก่อนแล้วระดับหนึ่ง และเมื่อได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ถูกวิธีก็จะเพิ่มพูนจิตวิญญาณความเป็นครูจากการทำงานนั้นเองจึงว่ามีการ พัฒนาจิตโดยธรรมชาติ กระบวนการเรียนรู้ที่ดีมิใช่การสอนดีหรือสอน เก่ง ควรเข้าใจตรงกันเสียทีว่าครูนั้นควรเลิกสอนได้แล้วเพราะยิ่งสอนยิ่งทำลาย ชาติ ครูที่ดีควรจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ช่วยให้เด็กๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี กล่าวคือ ทำให้เด็กใฝ่รู้ รู้วิธีที่จะเรียนรู้ และพัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองให้สมบูรณ์ ย้ำ อีกครั้งกระบวนการเรียนรู้ที่ดีควรทำให้เด็กใฝ่รู้ หมายความว่าเด็กๆ กลายเป็นคนที่อยากรู้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องรอใครมาป้อนหน้าเสาธง ป้อนหน้าห้องหรือรอใครมาจัดสอบ รู้วิธีที่จะเรียนรู้ หมายความว่าเด็กๆ รู้ว่าจะไปหาคำตอบของปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองจากที่ใด จากห้องสมุด ที่วัด ในชุมชน หรือกูเกิล รวมทั้งรู้จักไม่เชื่อสิ่งที่ได้มาและกล้าถกเถียงกับเพื่อนหรือครูเพื่อให้ ได้คำตอบที่หลากหลายยิ่งกว่า พัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ หมายความว่ารู้จักเคารพตนเอง เคารพชุมชน และเคารพสิ่งแวดล้อม เคารพตนเอง หมายถึง ไม่ทำลายตนเอง เคารพชุมชน หมายถึง ไม่ทำลายชุมชนและเห็นชุมชนที่ตนเกิดมาเป็นที่พึ่งหรือแหล่งพักพิงหรือผู้มี พระคุณ เคารพสิ่งแวดล้อม หมายถึง ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายโลก รวมทั้งเคารพพืช สัตว์ มนุษย์ทุกผิวสีและชาติพันธุ์ ครูที่ดีควรสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ผลตอบรับทั้งสามประการดังกล่าว ซึ่งต่างจากการสอนและการสอบ ลักษณะ ของกระบวนการเรียนรู้ที่ดีสังเกตได้ไม่ยาก มีข้อให้สังเกตสามประการ คือ หนึ่ง-ครูมีความสุข สอง-นักเรียนมีความสุข สาม-ชุมชนมีส่วนร่วม กระบวน การเรียนรู้ (learning process) เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง (organism) นั่นคือ ถ้ามันดูแลตัวเองไม่ได้มันก็ต้องตาย ถ้ามันตายก็แปลว่ามันไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ที่ดี ถ้ามันอยู่รอดแปลว่ามันดูแลตัวเองได้แสดงว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ถ้ามันอยู่รอดได้และขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แปลว่ามันดูแลตัวเองได้ดีมากแสดงว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาก ดัง นั้น กระบวนการเรียนรู้ที่ดีย่อมฟูมฟักตนเองได้ หมายความว่าทำแล้วครูเองมีความสุขอยากทำอีก นักเรียนทำแล้วสนุกสุดสุดอยากเรียนรู้อีก ชุมชนให้การสนับสนุนประคับประคองเพราะชุมชนเห็นว่าทั้งครูและนักเรียนมีความ สุข ไม่เบี้ยวไม่เกเร เรียนรู้ไปทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนไปพร้อมกัน ถ้า กระบวนการเรียนรู้นั้นถึงระดับดีมากก็จะมีครู นักเรียน และชุมชนมาร่วมขบวนการมากยิ่งขึ้น เพราะทุกคนมองเห็นด้วยตาตนเองแล้วว่าครูที่ดีทำเพื่อลูกศิษย์เป็นอย่างไร เรียกครูเหล่านี้ว่า "ครูเพื่อศิษย์" ศัพท์บัญญัติโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มี ครูเพื่อศิษย์อยู่แล้วกระจัดกระจายทั่วประเทศ เรามีสมมติฐานว่าครูเพื่อศิษย์เหล่านี้ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอยู่ แล้วทำให้ยังมีชีวิตอยู่ได้แต่ไม่เป็นที่รู้จัก เรื่องดีๆ ของครูมีให้ได้อ่านได้ยินน้อย เรื่องไม่ดีมีปรากฏมากกว่า การขยายตัวของครูเพื่อศิษย์ก็เชื่องช้าเพราะสภาพแวดล้อมเป็นพิษนั่นคือมีข้อ จำกัดต่างๆ ทางการศึกษาที่ยังบีบรัด ดังนั้น ที่ควรทำและทำได้ทันทีคือค้นหาครูเพื่อศิษย์ให้พบ นำมาชื่นชมในที่สาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์ และช่วยกันค้นหาวิธีคลายการบีบรัดครูเพื่อศิษย์ให้เร็ว เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์/www.thaissf.org
08 ธันวาคม 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น